ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของ แมลงวัน
แมลงวัน มีวงจรชีวิตเฉลี่ยอยู่ในช่วง 6-12 วัน นับจากฟักตัวออกมาจากไข่ และพัฒนาเจริญเติบโตจนกลายเป็นตัวเต็มวัย ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ร้อน หรือหนาวเกินไป ไข่ของแมลงวันจะไม่ฟักแมลงวันเพศเมียสามารถออกไข่เฉลี่ย 100-200 ฟอง ในช่วงชีวิตของมัน วงจรชีวิตของแมลงวันแบ่งออกเป็น4 ระยะ คือ
ระยะไข่ (egg)
ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ตามที่ชื้น เช่น ในกองขยะ และแหล่งที่มีเศษอาหาร ผัก ผลไม้เน่าเปื่อยไข่มีสีขาว รูปร่างคล้ายกล้วย มีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไข่เหล่านี้ต้องการความชื้นสูงเพื่อความอยู่รอดที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ไข่ฟักเป็นตัวหนอนภายใน 6-8 ชั่วโมง
ระยะตัวหนอน (larva หรือ maggot)
ตัวหนอนที่ฟักตัวออกมาจากไข่ เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาว 12-13 มิลลิเมตร หนอนแมลงวันเรียกว่าmaggot ไม่มีขา ตัวหนอนมี 3 ระยะ มีรูปร่างเรียวยาวคล้ายกล้วย สีขาว ส่วนหัวมีขนาดเล็ก ส่วนท้ายมีลักษณะมนปาน และมีลักษณะคล้ายลูกตาติดอยู่ที่ส่วนท้าย 2 อัน ซึ่งเป็นรูหายใจที่รับออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย ระยะตัวหนอนส่วนใหญ่เติบโตได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส ความชื้นสูงและไม่ชอบแสงเมื่อตัวหนอนเติบโตเต็มที่จะหยุดกินอาหาร และจะเคลื่อนย้ายจากที่เย็นและชื้นไปสู่ที่แห้งกว่า หรือเคลื่อนตัวมาสู่ผิวหน้า ตามขอบหรือริมกองขยะ เพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตในระยะไข่ ตัวหนอน และดักแด้ คือ สารอาหารความชื้น และอุณหภูมิ หนอนแมลงวันจะไม่ทนทานในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส
ระยะดักแด้ (pupa)
เมื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ใหม่ ๆ ในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรก ผิวหนังจะอ่อนนุ่ม มีสีขาว หรือสีเหลืองหลังจาก24 ชั่วโมง ผ่านไป ผิวหนังจะแข็งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำระยะดักแด้จะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ได้แก่ ความชื้น และอุณหภูมิ ที่อุณหภูมิระหว่าง 35-40 องศาเซลเซียส ดักแด้จะใช้เวลาในการเจริญเติบโต 3-4 วัน จึงจะเป็นตัวเต็มวัย ดักแด้สามารถทนทานต่อความชื้นต่ำได้ดีกว่าระยะตัวหนอน แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส ดักแด้จะไม่สามารถทนอยู่ได้และตายไปในที่สุด
ระยะตัวเต็มวัย (adult)
เมื่อตัวเต็มวัยออกมาจากดักแด้ใหม่ ๆ จะมีลำตัวอ่อนนุ่มและไม่สามารถบินได้ หลังจากนั้นจะเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ เพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการพักตัว โดยส่วนใหญ่แล้วจะเลือกที่มืด ๆ เพื่อยืดปีกและรอให้ผนังลำตัวมีสีเข้มและแข็งขึ้น สถานที่ที่แมลงวันพักตัวเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการควบคุมแมลงวันหลังจากตัวเต็มวัยออกมาจากดักแด้ 2 วัน ก็พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ คือ 30 องศาเซลเซียส หลังจากผสมพันธุ์แล้ว 2-3 วัน เพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มในแต่ละปี แมลงวันอาจมีการเจริญเติบโตได้ถึง 30 รุ่น และอาจมีมากกว่า ถ้าอุณหภูมิ ความชื้นและอาหารเหมาะสม ปกติความชุกชุมของแมลงวันขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหาร ความสามารถในการขยายพันธุ์ และสภาพแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิ และความชื้นที่มีความเหมาะสมในประเทศเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว แมลงวันสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดและสามารถขยายพันธุ์ได้ในช่วงระยะฤดูร้อนเป็นส่วนใหญ่ แต่ในฤดูหนาวแมลงวันสามารถเก็บตัวในอาคาร แมลงวันตัวเต็มวัยสามารถจำศีลในฤดูหนาวได้ นอกจากนั้น ยังพบว่าระยะหนอนโตเต็มที่และระยะดักแด้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในมูลสัตว์ที่เย็นและแข็งตัวในฤดูหนาวได้ ในประเทศไทยจะพบแมลงวันตลอดปี แต่ที่พบชุกชุมมาก ได้แก่ ในฤดูร้อนซึ่งเป็นฤดูที่มีผลไม้ เช่นทุเรียน มะม่วง เงาะ ลำไย ออกสู่ตลาดมาก และในบางท้องที่หรือจังหวัดที่มีฟาร์มปศุสัตว์ เช่น สุกร วัว ควายจะพบแมลงวันจำนวนมากในต้นฤดูฝน เนื่องจากฟาร์มต่าง ๆ เหล่านี้มีปริมาณมูลสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของแมลงวัน