พฤติกรรมของ หนู

หนู เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก (small mammal) ที่สามารถดำรงชีวิตได้ดีตั้งแต่บริเวณอาร์กติก เขตทุนดรา ไปจนถึงเขตร้อนชื้น ทะเลทราย และภูเขาทราย และมีความหลากหลายในเรื่องของอาหารจึงทำให้พบแพร่กระจายเกือบทั่วโลก

หนูมีฟันแทะ (incisors) 2 คู่ คือ ที่กรามบน (upper jaw) 1 คู่ และอีก 1 คู่ อยู่ที่กรามล่าง(lower jaw) ทำให้มีนิสัยการกินแบบกัดแทะ เนื่องจากส่วนเคลือบฟัน (enamel) ของฟันแทะมีความแข็งแกร่งมาก ซึ่งมีค่าระดับความแข็งของโมห์ส (Mohs scale) เท่ากับ 5 ในขณะที่ค่าความแข็งของตะกั่วสังกะสี และเหล็กมีค่าเท่ากับ 1.5, 2.5 และ 4.5 ตามลำดับ ส่วนที่เป็นเนื้อฟัน (dentine) ของฟันแทะซึ่งอยู่ด้านหลังของเคลือบฟันจะสึกกร่อนได้ง่ายกว่า ดังนั้น การกัดแทะกินอาหารหรือสิ่งของต่าง ๆ ของหนู จึงส่งผลให้เนื้อฟันด้านหลังกร่อนมากกว่าเคลือบฟันด้านหน้า จึงทำให้ฟันแทะมีลักษณะคล้ายสิ่ว ด้วยเหตุนี้หนูจึงสามารถกัดแทะไม้ ปูน พลาสติก โลหะ หรือสายไฟเคเบิ้ลได้ไม่ยากนัก เนื่องจากฟันแทะของหนูงอกยาวได้ตลอดชีวิตเฉลี่ยประมาณปีละ 5 นิ้ว ฟันที่ยาวขึ้นมากนั้นจะทำให้กินอาหารไม่ได้ เพื่อไม่ให้ฟันแทะคู่หน้ายาวเกินไป จึงทำให้หนูต้องกัดแทะสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ตามทางเดินของมัน เช่น ต้นไม้ เสาไม้ สายไฟ ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารที่กินได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ฟันแทะคม ยาวพอเหมาะ และอยู่ในตำแหน่งที่จะกินอาหารได้สะดวก

หนูมีประสาทสัมผัสและรับความรู้สึกที่ดีเยี่ยม ปกติหนูเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน(nocturnal) แต่บางครั้งเมื่ออาหารขาดแคลน หรือมีประชากรหนูมากเกิน (over population) ก็อาจทำให้หนูบางตัวต้องออกหากินในเวลากลางวัน สิ่งที่ช่วยให้หนูสามารถออกหากินในเวลากลางคืนได้เป็นอย่างดี คือ
หนวด (vibrissae) ซึ่งอยู่บริเวณด้านข้างใกล้จมูกทั้ง 2 ข้าง อุ้งตีน ทั้ง 4 ขา และ guard hair ที่มีความยาวกว่าขนอื่น ๆ อยู่บริเวณใต้ท้องของลำตัวหนู ซึ่งบริเวณเหล่านี้มีประสาทสัมผัสที่ไวมาก หนูใช้หนวดในการคลำทางหาอาหาร ส่วนขนที่ใต้ท้องและการสัมผัสของอุ้งตีนบนพื้นผิวที่มันวิ่งผ่านจะช่วยให้หนูเรียนรู้และจดจำถึงสภาพพื้นที่ที่มันวิ่งผ่านได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หนูจึงมักออกหากินไปตามทางเดิมอยู่เสมอ ทำให้เกิดเป็นรอยทางเดิน นอกจากประสาทสัมผัสที่ไวมากที่ขนดังกล่าวแล้ว หนูยังมีจมูกที่มีประสาทรับกลิ่นต่าง ๆ ที่ดีเยี่ยม ใช้ดมกลิ่นเพื่อค้นหาแหล่งอาหารที่อยู่ไกล ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ประสาทในการชิมรสอาหารที่ลิ้นก็ไวมากและสามารถตรวจหรือรับรู้รสแปลกปลอมที่เป็นพิษในอาหารได้โดยง่าย จึงทำให้หนูเกิดการเข็ดขยาดต่อเหยื่อ (bait shyness) และจดจำได้นาน 2-5 เดือน

หนูสามารถส่งเสียงและรับฟงเสียงที่มีความถี่สูงถึง 45 กิโลเฮริท์ซ (Khz) หรือ ultrasound ในการสื่อสารเรื่องตำแหน่งแหล่งอาหาร หรืออันตรายได้ในระยะไกล ๆ

การมองเห็นภาพต่าง ๆ ของหนูไม่ดีนักเมื่อเทียบกับสายตามนุษย์ เนื่องจากระบบโครงสร้างในการมองเห็นภาพและการรับแสงของหนูซึ่งเรียกว่า จอตา (retina) ถูกสร้างขึ้นให้มีลักษณะคล้ายนิ้วมือ ทำให้เพิ่มพื้นที่รับแสงมากขึ้น เหมาะต่อการหากินในเวลากลางคืน และมีเซลล์รูปแท่ง (rod cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ไวต่อการรับแสงสว่าง แต่ไม่สามารถแยกความแตกต่างของสีได้ทำหน้าที่ในการรับภาพเท่านั้น จึงไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสีได้ จึงทำให้ภาพที่หนูมองเห็น เป็นสีขาวดำเท่านั้น

หนูเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำและดำน้ำได้เป็นอย่างดี เพราะจมูกหนูมีลักษณะงองุ้มและมีแผ่นเยื่อตาปิดตา(eye lids) ขณะที่ดำน้ำ ได้มีการศึกษาความสามารถในการดำน้ำของหนูนอรเว พบว่าสามารถดำน้ำได้นานคราวละ 30 วินาที ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าหนูชนิดนี้สามารถดำน้ำผ่านท่อระบายน้ำจากนอกบ้านเข้าไปในบ้านได้ ปกติแล้วหนูสามารถว่ายน้ำได้เป็นระยะทางไกล 600-1,000 เมตร และได้นาน 3-4 ชั่วโมง

หนูสามารถกระโดดได้สูงถึง 0.5 เมตร และกระโดดได้ไกลถึง 1.2 เมตร จากพื้นที่ราบ และสามารถกระโดดจากพื้นที่สูง 5-15 เมตร ลงสู่พื้นล่างได้อย่างปลอดภัยและได้ไกลอย่างน้อย 2 เมตร  หนูมีหางยาว เพื่อใช้ทรงตัวและบังคับทิศทาง จึงปีนป่ายในแนวดิ่งได้ดี และ/หรือเดินไต่ลวดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.6 มิลลิเมตร ได้เป็นระยะทางหลายเมตร