พฤติกรรมของ ยุง
ยุง ตัวเต็มวัยทั้ง 2 เพศ กินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ส่วนใหญ่ยุงตัวเมียยังต้องการโปรตีนจากเลือดมนุษย์หรือสัตว์เพื่อช่วยในการเจริญของไข่และใช้สร้างพลังงาน ดังนั้น ยุงตัวเมียเท่านั้นที่กัดคนและสัตว์ ยุงแต่ละชนิดชอบกินเลือดต่างกัน พวกที่ชอบกินเลือดสัตว์เรียก zoophilic ส่วนพวกที่ชอบกินเลือดคน เรียก anthropophilic เลือดจะเข้าไปช่วยในการเจริญของไข่ การเจริญของไข่เเบบที่ต้องการโปรตีนจากเลือด เรียก anautogeny มียุงไม่กี่ชนิดที่ไข่จะสุกได้โดยใช้อาหารที่สะสมไว้โดยไม่ต้องกินเลือด เรียก autogeny เช่น ยุง Aedes togoi, Culex molestus เป็นต้น เวลาที่ยุงออกหากินก็ไม่เหมือนกัน เช่น ยุงลายชอบหากินในเวลากลางวัน ยุงรำคาญชอบหากินในเวลากลางคืน ยุงแม่ไก่ชอบหากินตอนพลบค่ำและย่ำรุ่ง เป็นต้น
การบิน
มีลักษณะเฉพาะสำหรับยุงแต่ละชนิด เช่น ยุงลายบ้านจะบินไปไม่ไกล บินได้ประมาณ 30-300เมตร ยุงลายสวนบินได้ประมาณ 400-600 เมตร ยุงก้นปล่องบินได้ประมาณ 0.5-2.5 กิโลเมตร ส่วนยุงรำคาญบินได้ตั้งแต่ 200 เมตร ถึงหลายกิโลเมตร ยุงพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบบินได้ไกลถึง 50 กิโลเมตรยุงตัวเมียสามารถบินได้ไกลกว่ายุงตัวผู้
การผสมพันธุ์
ยุงตัวผู้ลอกคราบโผล่ออกจากตัวโม่งก่อนยุงตัวเมีย และอยู่ใกล้ ๆ แหล่งเพาะพันธุ์ เมื่อตัวเมียออกมา1-2 วัน จะผสมพันธุ์กัน หลังจากผสมพันธุ์แล้วยุงตัวเมียจะออกหาแหล่งเลือด แต่ยุงบางชนิดต้องการเลือดก่อนการผสมพันธุ์ เช่น Anopheles culicifacies เป็นต้น นอกจากนี้ ยุงก้นปล่องมีพฤติกรรมการบินว่อนเป็นกลุ่มเพื่อการจับคู่ผสมพันธุ์ เรียก swarming ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนพระอาทิตย์กำลังตก โดยแสงที่อ่อนลงอย่างรวดเร็วมีผลในการกระตุ้นกิจกรรมนี้ ส่วนยุงลายจับคู่ผสมพันธุ์โดยไม่ต้อง swarm ตัวผู้จะตอบสนองต่อเสียงกระพือปีกของยุงตัวเมีย ยุงลายตัวผู้สามารถค้นหาตัวเมียได้ภายในระยะทาง 25
เซนติเมตร
อายุของยุง
ยุงตัวผู้มักมีอายุสั้นกว่ายุงตัวเมีย โดยยุงตัวผู้มีอายุประมาณ 1 สัปดาห์ ยกเว้นในกรณีที่เลี้ยงดูด้วยอาหารสมบูรณ์และมีความชื้นเหมาะสมจะมีอายุอยู่ได้เป็นเดือน ส่วนยุงตัวเมียมีอายุ 1-5 เดือน อายุของยุงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ในฤดูร้อน ยุงมีกิจกรรมมากทำให้อายุสั้น เฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์ในฤดูหนาวยุงมีกิจกรรมน้อยจึงอายุยืน ในบางพื้นที่ยุงสามารถจำศีลตลอดฤดูหนาว