ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของ ยุง

การพัฒนาการเจริญเติบโตของ ยุง เป็นแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) หมายถึงการเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในแต่ละระยะที่แตกต่างกัน แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะไข่ (egg)ระยะลูกน้ำ (larva) ระยะตัวโม่ง (pupa) และระยะตัวเต็มวัย (adult) ระหว่างการเจริญเติบโตในแต่ละระยะต้องมีการลอกคราบ (molting) ซึ่งถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่สำคัญ 3 ชนิด คือ brain hormone, ecdysoneและ juvenile hormone

ระยะไข่ (egg)
ไข่ยุงแต่ละชนิดมีขนาดและลักษณะไม่เหมือนกัน ลักษณะการวางไข่อาจบอกชนิดของกลุ่มยุงได้ ยุงชอบวางไข่บนผิวน้ำหรือบริเวณชื้น ๆ เช่น บริเวณขอบภาชนะเหนือระดับน้ำ การวางไข่ของยุงแบ่งออกเป็น
4 ประเภท
• วางไข่ใบเดี่ยว ๆ บนผิวน้ำ เช่น ยุงก้นปล่อง
• วางไข่เป็นแพ บนผิวน้ำ เช่น ยุงรำคาญ
• วางไข่เดี่ยว ๆ ตามขอบเหนือระดับน้ำ เช่น ยุงลาย
• วางไข่ติดกับใบพืชน้ำเป็นกลุ่ม เช่น ยุงเสือ หรือยุงฟิลาเรีย

zmosq cycle

ระยะไข่ใช้เวลา 2-3 วัน จึงฟักตัวออกเป็นลูกน้ำ ในยุงบางชนิด เช่น ยุงลาย ไข่สามารถอยู่ในสภาพแห้งได้หลายเดือนจนกระทั่งเป็นปี เมื่อมีน้ำก็จะฟักออกเป็นลูกน้ำ แหล่งวางไข่ของยุงแต่ละชนิดแตกต่างกันเช่น ยุงลายชอบวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำขังที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วน ยุง รำคาญชอบวางไข่ในแหล่งน้ำสกปรกต่าง ๆน้ำเสียจากท่อระบายน้ำ แต่หากไม่พบสภาพน้ำที่ชอบยุงก็อาจวางไข่ในสภาพน้ำที่ผิดไป นักวิทยาศาสตร์หลายคนรายงานว่าปัจจัยที่ช่วยให้ยุงตัวเมียวางไข่มาจากสารเคมีบางอย่างในน้ำ สารเคมีอาจเป็น diglyceridesซึ่งผลิตโดยลูกน้ำยุงที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้น หรือเป็นกรดไขมัน (fatty acid) จากแบคทีเรีย หรือเป็นสารพวกphenolic compounds จากพืชน้ำ เป็นต้น

ระยะลูกน้ำ (larva)
ลูกน้ำยุงแต่ละชนิดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่เหมือนกัน เช่น ตามภาชนะขังน้ำต่าง ๆ ตามบ่อน้ำ หนองลำธาร โพรงไม้ หรือกาบใบไม้ที่อุ้มน้ำ เป็นต้น ลูกน้ำยุงส่วนใหญ่ลอยตัวขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ โดยมีท่อสำหรับหายใจ เรียกว่า siphon ยกเว้นยุงก้นปล่องไม่มีท่อหายใจ แต่จะวางตัวขนานกับผิวน้ำ โดยมีขนลักษณะคล้ายใบพัด (palmate hair) ช่วยให้ลอยตัวและหายใจทางรูหายใจ (spiracle) ส่วนยุงเสือจะใช้ท่อหายใจซึ่งสั้นและปลายแหลมเจาะพวกพืชน้ำและหายใจเอาออกซิเจนผ่านรากของพืชน้ำ อาหารของลูกน้ำยุง ได้แก่ สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในน้ำนั่นเอง เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ สาหร่าย เป็นต้น ลูกน้ำจะลอกคราบ 4 ครั้ง เมื่อลอกคราบครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวโม่ง การเจริญเติบโตในระยะลูกน้ำใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของลูกน้ำ อาหารอุณหภูมิ และความหนาแน่นของลูกน้ำด้วย

ระยะตัวโม่ง (pupa)
ตัวโม่งรูปร่างผิดไปจากลูกน้ำ ส่วนหัวเชื่อมต่อกับส่วนอก รูปร่างลักษณะคล้ายเครื่องหมายจุลภาค ( , )ระยะนี้ไม่กินอาหาร เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีท่อหายใจคู่หนึ่งที่ส่วนหัว เรียก trumpets ระยะนี้สั้นใช้เวลาเพียง 1-3 วัน

ระยะตัวเต็มวัย (adult)
ตัวยุงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนหัว (head) มีลักษณะกลมเชื่อมติดกับส่วนอก ประกอบด้วยตา 1 คู่ ตาของยุงเป็นแบบตาประกอบ (compound eyes) มีหนวด (antenna) 1 คู่ มีระยางค์ปาก (labial palpi) 1 คู่ และมีอวัยวะเจาะดูด (proboscis) 1 อัน มีลักษณะเป็นแท่งเรียวยาวคล้ายเข็ม สำหรับแทงดูดอาหาร หนวดของยุงแบ่งเป็น 15 ปล้อง สามารถใช้จำแนกเพศของยุงได้ แต่ละปล้องจะมีขนรอบ ๆ ในยุงตัวเมียขนนี้จะสั้นและไม่หนาแน่น (sparse) เรียกว่า pilose antenna ส่วนยุงตัวผู้ขนจะยาวและเป็นพุ่ม (bushy) เรียกว่าplumose antenna หนวดยุงเป็นอวัยวะที่ใช้ในการรับคลื่นเสียง ยุงตัวผู้จะใช้รับเสียงการกระพือปีกของยุงตัวเมีย ความชื้นของอากาศ และรับกลิ่นระยางค์ปาก (labial palpi) แบ่งเป็น 5 ปล้อง อยู่ติดกับ proboscis ในยุงก้นปล่องตัวเมีย palpiจะตรงและยาวเท่ากับ proboscis ส่วนยุงตัวผู้ตรงปลาย palpi จะโป่งออกคล้ายกระบอง ในยุงอื่นที่ไม่ใช่ยุงก้นปล่อง palpi ของตัวเมียจะสั้นประมาณ 1/4 ของ proboscis ส่วนยุงตัวผู้ palpi จะยาว แต่ตรงปลายไม่โป่ง และมีขนมากที่สองปล้องสุดท้ายซึ่งจะงอขึ้น

ส่วนอก (thorax) มีปีก 1 คู่ ด้านบนของอก ปล้องกลาง (mesonotum) ปกคลุมด้วยขนหยาบ ๆและเกล็ด ซึ่งมีสีและลวดลายต่าง ๆ กัน เราใช้ลวดลายนี้สำหรับแยกชนิดยุงได้ ด้านข้างของอกมีเกล็ดและกลุ่มขนซึ่งใช้แยกชนิดของยุงได้เช่นกัน ด้านล่างของอกมีขาโดยขาแต่ละข้างจะประกอบด้วย coxa ซึ่งมีขนาดสั้นอยู่ที่โคนสุด ต่อไปเป็น trochanter คล้าย ๆ บานพับ femur, tibia และ tarsus ซึ่งมีอยู่ 5 ปล้องปล้องสุดท้ายมีหนามงอ ๆ 1 คู่ เรียกว่า claws ขาก็มีเกล็ดสีต่าง ๆ ใช้แยกชนิดของยุงได้ ปีกมีลักษณะแคบและยาว มีลายเส้นปีก (veins) ซึ่งมีชื่อเฉพาะของแต่ละเส้นปีกจะมีเกล็ดสีต่าง ๆ กัน ตรงขอบปีกด้านหลังจะมีขนเรียงเป็นแถวเรียก เกล็ด (fringe) และขนบนปีกนี้ก็ใช้ในการแยกชนิดของยุงได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีhalteres 1 คู่ อยู่ที่อกปล้องสุดท้าย มีลักษณะเป็นปุ่มเล็ก ๆ อยู่ต่อจากปีก เมื่อยุงบิน halteres จะสั่นอย่างเร็วใช้ประโยชน์ในการทรงตัวของยุง

ส่วนท้อง (abdomen) มีลักษณะกลม ยาว ประกอบด้วย 10 ปล้อง แต่จะเห็นชัดเพียง 8 ปล้อง ปล้องที่ 9-10 จะดัดแปลงเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ ในยุงตัวผู้จะใช้ส่วนนี้แยกชนิดของยุงได้