พฤติกรรมของ มด
มด เป็นแมลงที่กำเนิดมาช้านาน โดยเมื่อศึกษาจากซากฟอสซิลนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มดกำเนิด
เมื่อ 50 ล้านปี มาแล้ว มดเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการสูง สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสามารถ
อยู่รอดได้ดี เนื่องจากมดมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต พฤติกรรมเหล่านี้ประกอบด้วย
1. พฤติกรรมการผสมพันธุ์และการสร้างรัง
เมื่อประชากรภายในรังมีความหนาแน่นมากและต้องการขยายรัง สมาชิกมดในวรรณะสืบพันธุ์
ทั้งเพศผู้และเพศเมียจะบินออกจากรังเดิมเพื่อจับคู่กับมดจากรังอื่น โดยมดงานจะช่วยขุดรูให้เป็นทางออกของมดในวรรณะสืบพันธุ์ดังกล่าว มดที่มีวิวัฒนาการสูงจะจับคู่และผสมพันธุ์บนที่สูง เช่น บนต้นไม้ ส่วนมดที่มีวิวัฒนาการต่ำจะผสมพันธุ์บนพื้นดิน หลังจากผสมพันธุ์แล้วเฉพาะมดเพศเมียจะหาพื้นที่ที่เหมาะสม ในการสร้างรังซึ่งจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของมด แล้วเริ่มต้นสร้างรังใหม่ โดยจะสลัดปีกออกกลายเป็นมดราชินีและเริ่มต้นวางไข่ การวางไข่ครั้งแรกจะวางเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มดรุ่นแรกนี้จะเป็นมดงานเพียงวรรณะเดียว โดยมดราชินีจะทำหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยงดูตัวอ่อนชุดแรกเอง โดยการให้กินไข่ชุดที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์
จนมดงานรุ่นแรกนี้เจริญเติบโตเปนมดงานที่ทำหน้าที่ออกหาอาหารเองได้ และเมื่อมีมดงานตัวเต็มวัยมากขึ้นมดราชินีจะทำหน้าที่วางไข่และควบคุมพฤติกรรมภายในรังเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ฤดูกาลและสภาพอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของอาหารจะมีอิทธิพลต่อการผสมพันธุ์ เมื่อภายในรังมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นมดราชินีจะมีการผลิตมดวรรณะสืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียเพื่อทำหน้าที่ผสมพันธุ์ขยายรังต่อไป
2. พฤติกรรมการหาอาหาร
มดงานออกหาอาหารได้ทั้งกลางวันและกลางคืนแต่ส่วนใหญ่จะพบมากในเวลากลางวัน มดงาน กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งสามารถเปนตัวห้ำกินสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ กินสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว และกินได้ทั้งเมล็ดพืชหรือดูดกินอาหารที่เป็นของเหลว มดงานบางชนิดสามารถเก็บอาหารที่เป็นของเหลวไว้ในกระเพาะจนเต็มแล้วนำกลับไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกตัวอื่น ๆ ภายในรังได้ โดยใช้วิธีสำรอกออกมาในเวลาประมาณไม่เกิน 20 ชั่วโมง
3. พฤติกรรมการติดต่อสื่อสาร
มด มีการติดต่อสื่อสารโดยปล่อยสารที่เรียกว่า ฟีโรโมน (pheromone) ที่มดตัวอื่นจะรับการติดต่อได้โดยอาศัยหนวดและขาคู่หน้า ฟีโรโมนมีหลายชนิด เช่น
3.1 ฟีโรโมนนำทาง (trail pheromone) โดยมดจะปล่อยไว้ตามทางที่มันเดินผ่านเพื่อให้
สมาชิกตามไปยังแหล่งอาหารได้ถูกต้อง และเมื่อพบอาหารปริมาณมาก ๆ มดจะช่วยกันปล่อยฟีโรโมนทำให้มีมดเป็นจำนวนมากกรูมาที่อาหารอย่างรวดเร็วเพื่อนำอาหารกลับไปเลี้ยงสมาชิกตัวอื่น ๆ ภายในรัง
3.2 ฟีโรโมนเตือนภัย (alarm pheromone) พบว่าเป็นฟีโรโมนที่เมื่อปล่อยออกมาในปริมาณน้อย ๆ จะใช้สื่อสารด้านการเตือนภัย แต่ถ้าปล่อยออกมาในปริมาณมาก ๆ จะสามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างของมดได้ด้วย เช่น ให้เข้าโจมตีศัตรู หรือขุดรูเพื่อหลบภัย และพบว่าฟีโรโมนชนิดนี้จะไม่จำเพาะเจาะจงกับชนิดของมดเหมือนกับฟีโรโมนนำทาง
3.3 ฟีโรโมนอื่น ๆ มดจะปล่อยออกมาในเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น มดตัวอ่อนสามารถปล่อยฟีโรโมนกระตุ้นให้มดงานป้อนอาหารให้เมื่อมันรู้สึกหิว หรือฟีโรโมนที่มดราชินีปล่อยออกมาเพื่อควบคุมกิจกรรมของประชากรภายในรัง
4. พฤติกรรมการใช้เสียง
มีรายงานว่ามดบางชนิดสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้เสียงเพื่อเป็นการเตือนภัยเรียกสมาชิกตัวอื่น ๆ ให้มาอยู่รวมกันเมื่อพบศัตรู หรือเรียกมาช่วยเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้น