การป้องกัน-กำจัดปลวก
ปลวกโดยส่วนมากจะมีช่องทางการเข้าทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่หลายช่องทาง อาทิเช่น ตามรอยแตกร้าวของพื้นคอนกรีต บันได หรือรอยต่อระหว่างพื้นคอนกรีตและผนังอาคาร ท่อประปา ท่อน้ำทิ้ง และตามปล่องท่อสายไฟ การป้องกัน และ กำจัดปลวก นั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้
1. การป้องกันโดยใช้สารเคมี
1.1 การใช้สารป้องกัน กำจัดปลวก (termiticides)
เป็นการกำจัดโดยการฉีดพ่นหรืออัดสารเคมีลงไปในพื้นดินใต้อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อทำให้ดินมีสภาพเป็นพิษ ปลวกไม่สามารถเจาะทะลุผ่านได้ หรืออาจใช้สารเคมีกำจัดปลวกโรยหรือฉีดพ่นให้โดนตัวปลวกโดยตรง วิธีการใช้สารเคมีนี้ในปัจจุบันพบว่าเป็นวิธีป้องกันกำจัดปลวกที่ได้ผลดีที่สุด สารเคมีกลุ่มต่าง ๆที่นิยมใช้ในประเทศไทย อาทิเช่น
• กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphates) ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos)เป็นต้น
• กลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (synthetic pyrethroids) ได้แก่ ไซเพอร์เมทริน(cypermethrin) อัลฟ่า–ไซเปอร์เมทริน (alpha-cypermethrin) เพอร์เมทริน(permethrin) ไบเฟนทริน(bifenthrin) เฟนวาเลอเรต (fenvalerate) และเดลต้าเมทริน (deltamethrin) เป็นต้น
• กลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มคลอโรนิโคตินิล (chloronicotinyls) ได้แก่ อิมิดาโคลพริด(imidacloprid) กลุ่มเฟนนีลไพราโซล (phenylpyrazoles) ได้แก่ ฟโพรนิล (fipronil)และกลุ่มไพรอล(pyrroles) ได้แก่ คลอเฟนนาเพอร์ (chlorfenapyr) เป็นต้น
1.2 การใช้สารป้องกันรักษาเนื้อไม้ (wood preservatives)
จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำให้เนื้อไม้เป็นพิษต่อปลวก ซึ่งอาจเป็นชนิดละลายในน้ำ ชนิดละลายในน้ำมัน หรือชนิดพร้อมใช้ ลักษณะการใช้สารป้องกันรักษาเนื้อไม้อาจเลือกใช้วิธีการทา จุ่ม แช่ หรืออัดด้วยความดัน สารป้องกันรักษาเนื้อไม้ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบันนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือ
1.2.1 สารป้องกันรักษาเนื้อไม้ประเภทน้ำมัน
เป็นสารที่ได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบเรียกกันโดยทั่วไปว่า ครีโอโสท เป็นสารเหนียวข้น สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีกลิ่นฉุน มีคุณสมบัติเป็นทั้งสารกำจัดแมลงและสารกำจัดเชื้อรา สลายตัวยาก ถูกชะล้างและระเหยได้ยาก นิยมใช้ในการอาบน้ำยาไม้ที่ใช้กลางแจ้ง ภายนอกอาคาร เนื่องจากมีกลิ่นและทำให้เนื้อไม้เปลี่ยนสีเป็นสีดำไม่สวยงาม ทาสีทับไม่ได้
1.2.2 สารป้องกันรักษาเนื้อไม้ประเภทเกลือเคมีละลายในสารทำละลายอินทรีย์
เป็นสารประกอบซึ่งเกิดจากการผสมสารป้องกันกำจัดแมลงและเชื้อรา และเติมสารแทรก (additives) เข้าไป สารที่เคยนิยมใช้กันมากในอดีต คือ เพนตะคลอโรฟีนอล (pentachlorophenol)และลินเดน (lindane) แต่ปัจจุบันสารประกอบทั้งสองชนิดถูกจำกัดการใช้ลงมาก เนื่องจากเป็นสารในกลุ่มที่เชื่อกันว่าก่อให้เกิดมะเร็งกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 คือ ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง
1.2.3 สารป้องกันรักษาเนื้อไม้ประเภทเกลือเคมีละลายในน้ำ
สารจำพวกนี้ประกอบด้วยส่วนผสมของเกลือเคมีหลายอย่างผสมกันโดยมีน้ำเปนตัวทำละลาย สารประเภทนี้แม้จะละลายในน้ำแต่เมื่ออัดเข้าไปในเซลล์ของไม้แล้วจะเปลี่ยนรูปไปเป็นสารเคมีตัวอื่นซึ่งจะเกาะติดอยู่ภายในไม้ได้ดี ไม่ถูกชะล้างหรือระเหยออกไปจากไม้ง่าย สารที่นิยมใช้กันทั่วไปใน
ประเทศไทยในปัจจุบัน คือ Copper-Chrome-Arsenate (CCA) ซึ่งมีส่วนประกอบของ ทองแดง โครเมี่ยมและสารหนู และ Copper-Chrome-Boron (CCB) ซึ่งมีส่วนประกอบของ ทองแดง โครเมี่ยม และโบรอน ซึ่งทองแดงจะออกฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดเชื้อรา สารหนูและโบรอนมีฤทธิ์ในการปองกันและกำจัดแมลง ส่วนโครเมี่ยมจะช่วยให้สารอื่น คือ ทองแดง สารหนู โบรอน ติดอยู่ในเนื้อไม้ได้นาน เกลือเคมีอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้มากในประเทศไทยเช่นกัน คือ สารประกอบของโบรอน เช่น ทิมบอร์ (Timbor) และ บอราแคร์
(Boracare) เป็นต้น
1.3 การป้องกัน กำจัดปลวก โดยใช้ระบบเหยื่อปลวก (termite bait system control) เป็นการควบคุมที่ทำให้ปลวกที่ได้รับวัตถุอันตรายเกิดการตายต่อเนื่อง ซึ่งเป็นวิธีการรูปแบบใหม่ในการป้องกันกำจัดปลวก มีหลักการดังนี้
• ใช้วัตถุอันตรายที่ออกฤทธิ์ช้า ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ในการขัดขวางกระบวนการเจริญเติบโตตามธรรมชาติของปลวก ทำให้สามารถลดจำนวนประชากรของปลวกจนถึงระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเกิดการตายต่อเนื่องจนหมดทั้งรัง
• ใช้วัตถุอันตรายที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ดึงดูดให้ปลวกเข้ามากิน และสามารถคงสภาพอยู่ภายในตัวปลวกได้ดีในระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะเกิดการถ่ายทอดไปสู่สมาชิกอื่น ๆ ภายในรังได้เหยื่อปลวกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุอันตรายซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ขัดขวางการเจริญเติบโตของปลวก ส่งผลให้เกิดการตายอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่มควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง (insect growth regulators; IGRs) เช่น เฮ็กซาฟลูมูรอน (hexaflumuron) ไดฟลูเบนซูรอน(diflubenzuron)บิสตริฟลูรอน (bistrifluron) เป็นต้น ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังลำตัวแมลง (chitin synthesisinhibitors) หรือเป็นสารที่ออกฤทธิ์ในระบบทางเดินอาหารของปลวกและสามารถถ่ายทอดไปยังปลวกตัวอื่น ๆได้ เช่น ไดโซเดียม ออกตะบอเรต เตตระ ไฮเดรต(disodium octaborate tetrahydrate; DOT) ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เหยื่อกำจัดปลวกทั้งชนิดที่ติดตั้งภายในอาคารและชนิดฝังดินบริเวณภายนอกอาคาร ในการนำเหยื่อกำจัดปลวกนี้ไปใช้จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมความรู้ทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาของปลวกเป็นอย่างดีและมีความชำนาญในการที่จะแก้ไขปัญหาในระหว่างการวางและเปลี่ยนเหยื่อได้ เนื่องจากในประเทศไทยมีการปลูกสร้างอาคารในลักษณะที่สลับซับซ้อน จึงจำเป็นต้องดัดแปลงระบบการวางเหยื่อให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์เพื่อล่อให้ปลวกเข้ากินเหยื่อให้เร็วที่สุด